บริษัท – ถ้าจ้างสำนักงานบัญชีทำ จะต้องเสียค่าอะไรบ้าง

07/09/2021 11:57 AM SME Company

เรื่องบัญชี คือเรื่องน่าปวดหัวของคนทำธุรกิจมือใหม่อย่างมาก แต่ทุกวันนี้ถือว่าดีกว่า 12-13 ปีที่แล้วอย่างมาก ที่หาข้อมูลยากสุดๆกับการเริ่มต้นของเรา ฉะนั้นวันนี้จะขอมาเขียนคร่าวๆให้ได้ทำความเข้าใจกันว่า หลังจากที่จัดตั้งบริษัทแล้ว สิ่งที่เราอาจพบเจอเกี่ยวกับ “บัญชี” ที่ถูกต้องตามกฏหมายจะมีอะไรบ้าง

จดบริษัทเสร็จ ต้องมีฝ่ายบัญชีไหม

ถ้าขี้เกียจอ่านอาจลองฟังของคุณบักหนอมในคลิปนี้ (ข้อมูลไม่ได้ตรงกับที่ผมเขียนโดยสิ้นเชิง แต่มีประโยชน์แน่นอน หรือฟังเสร็จ อ่านไล่ดูเรื่องอื่นในบทความนี้ก็ได้)

ต้องมีแหละ … นี้คือสิ่งที่เราไม่รู้เลยเมื่อ 12-13 ปีก่อน กับการเปิดบริษัทเองครั้งแรก แต่ไม่เคยรู้ว่า “ต้องทำบัญชีส่ง” และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้อง “ปิดงบรายปี” ฉะนั้น ทางที่ดีควรมีคนรู้หรือศึกษาเรื่องบัญชีสักนิดนึง เพื่อให้ไม่ผิดพลาด

การจดบริษัท ที่เกี่ยวข้องการทำงานเยอะขึ้นหรือเท่าเดิมก็คือ การมีภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7% นั่นเอง ถ้าจดส่วนนี้ด้วย จะมีภาระงานเยอะขึ้นนิดนึง ซึ่งก็แนะนำว่าถ้ารายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีแน่ๆอยู่แล้ว ก็จดตั้งแต่เริ่มจัดตั้งเลยก็ได้

รายจ่ายเกี่ยวกับบัญชีหลังเปิดบริษัท

  • ค่าทำบัญชีรายเดือน ไม่ว่าจะมี “พนักงานบัญชี” หรือ “จ้างสำนักงานบัญชี” ก็คือรายจ่ายแล้ว!!! โดยทั่วไปสำนักงานบัญชีที่จัดเก็บเอกสารให้คิดค่าใช้จ่ายเริ่มต้น 1,500-3,000 บาท (เป็นเลขเริ่มต้นเท่านั้น) (จะมีอธิบายเพิ่มเติมด้านล่าง)
  • ยื่นชำระภาษี ภพ30, ภงด3, ภงด53, ภงด36 ฯลฯ ซึ่งเป็นภาษีที่เกิดขึ้นขณะทำกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT รวมถึงพวกรายจ่ายที่เป็นค่าบริการต่างๆที่เป็น หัก ณ ที่จ่าย เป็นต้น
  • ยื่นประกันสังคมให้กับพนักงาน(ถ้ามีพนักงาน)
  • ค่าปิดงบประจำปี ตรงนี้ก็มีค่าใช้จ่ายสูง ประมาณ 10,000++ บาท หรือปิดงบเปล่า หลายแห่งรับเริ่มต้น 7,000 บาท/บริษัท

รู้ไว้ก่อน เปิดบริษัทจริงจังแล้ว มีรายจ่ายแน่นอนนะ

หลายวันก่อนเจอข้อความนึงในเพจการเงิน อยากมาแชร์ว่า ถ้าคิดจะเปิดบริษัทเท่ๆ ต้องรู้ไว้ว่า ในแต่ละปีขี้หมูขี้หมาจะต้องมีค่าใช้จ่ายดังนี้

  • ค่าทำบัญชีรายเดือน จ่ายรายเดือน รวม 12 เดือน
  • ค่าปิดงบ จ่ายปีละ 1 ครั้ง

ใน 1 ปี บริษัทจะมีเริ่มต้นทำบัญชีกับสำนักงานบัญชี หลายหมื่นบาท

ตีไม่ถูกไม่แพงต้องมี 50,000 บาท/ปี สำหรับการเสียเงินค่าทำบัญชีต่างๆ ซึ่งหลายคนอาจถามว่า “ค่าทำบัญชี” ไม่เสียได้ไหม ตรงนี้ก็สุดแล้วแต่ว่า คุยกับสำนักงานบัญชีหรือคนปิดงบได้ดีมากน้อยแค่ไหน เพราะส่วนใหญ่จะพยายามขายงานเราในการทำรายเดือนด้วย ด้วยเหตุผลคือ ถ้าปิดงบอย่างเดียว ก็ต้องมานั่งคีย์ข้อมูลย้อนหลังเข้าระบบตลอดทั้งปี ซึ่งต้องจ่ายเพิ่มอยู่ดี ฉะนั้นการทำบัญชีรายเดือนไปด้วยก็อาจจะสะดวกกว่า ทั้งนี้ในส่วนของการจ่ายรายเดือน ก็จะดูแลการยื่นภาษี, ประกันสังคม ต่างๆให้เรานั่นเอง

ฉะนั้นหากเปิดบริษัทและทำให้ถูกต้องก็จะควรคิดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ในการพิจารณา บางทีรายได้ไม่มากและไม่มาตลอด อย่าเพิ่งรีบเปิดบริษัท ให้คิดใจเย็นๆ พร้อมแล้วค่อยลุย

เปิดสำนักงานบัญชี เจ้าไหนดี

จ้างสำนักงานบัญชี อย่าเห็นแก่ของถูก

“เจ้าดีไม่ถูก เจ้าถูกโคตรเหี้ย” !!! หูยยยย ใช้คำแรงเลยนะ เพราะว่าเจอมาแล้วจริงๆ สำนักงานบัญชีที่คิดถูกๆเดือนละ 1,000 บาท ต้องดูให้ดี เพราะแย่มากกว่าดี เจอมากับตัว และเสียค่าโง่ไปหลายหมื่นเพราะสำนักงานบัญชีพวกนี้!!!

ฉะนั้น ก็อยากให้พิจารณาสำนักงานบัญชีให้ดี ไม่ว่าจะเป็นถามจากการบอกต่อ หรือใช้สำนักงานบัญชีที่เป็นเพื่อนของเรา น่าจะสะดวกใจ และทำงานได้ดีกว่า ลองควานหาเจ้าใหม่ๆ

เน้นย้ำว่า “อย่า” คิดว่าถูกจะประหยัดงบเรา เพราะมันจะเป็นของแพงทันทีเมื่อเกิดปัญหา

ค่าทำบัญชีรายเดือน เท่าไหร่ถึงเหมาะสม

ไม่มีคำว่าเหมาะสมหรอก เพราะแต่ละแห่งคิดค่าใช้จ่ายตามมาตรฐานของสำนักงานบัญชี แต่ตัวเลขเริ่มต้นในปัจจุบันเขาจะคิด 3,000 บาท/เดือน เป็นเลขเริ่มต้น (ย้ำว่า ถูกกว่าก็มี แต่ผมไม่มั่นใจว่าดีไหม) แต่การคิดค่าใช้จ่ายจะแปรผันตามจำนวนเอกสาร และยอดเงิน

สำนักงานบัญชี ที่ทำกันอยู่ ขยับค่าบริการจาก “รายได้” และ “เอกสาร” เป็นขั้นบันได

  • เอกสารซื้อ-ขาย ยิ่งเยอะ ยิ่งถูกขยับค่าใช้จ่ายต่อเดือน
  • ยอดเงิน ยิ่งเยอะ ยิ่งถูกขยับค่าใช้จ่ายต่อเดือน
  • ท้ายที่สุด ยอดยิ่งเยอะ ค่าปิดงบ ก็จะแพงขึ้นด้วยนะ

หรือเรียกง่ายๆว่า รายได้ยิ่งเยอะ ค่าทำบัญชีรายเดือนยิ่งสูง ซึ่งบางทีผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไม เพราะบางครั้ง รายได้เยอะจากเอกสารขาย 1 รายการ ก็มีโอกาสเป็นเหตุผลในการขึ้นค่าทำบัญชีรายเดือนในรอบสัญญาถัดไปด้วยซ้ำ

แต่หากให้แฟร์ก็ต้องยอมรับว่า ยิ่งเอกสารและยอดเงินเยอะ การทำงานก็ต้องสูงขึ้น ละเอียดขึ้น การบริการก็จะแพงขึ้นนั่นเอง

ค่าปิดงบเริ่มต้นหลักหมื่น

สิ่งที่ผมไม่พยายามเข้าใจแต่ต้องเข้าใจคือ “ค่าปิดงบบัญชี” ทำไมต้องแพงด้วย ตั้งแต่ทำมาก็คิดว่าเงินที่จ่ายไปมันแพงนะ ตั้งแต่

  • ค่าปิดงบเปล่า 12,000 บาท (ผมเขียนไว้ก่อนหน้าว่า เจ้าอื่นอาจเริ่มต้นที่ 7,000 บาท แต่ส่วนตัวแล้วจ่ายที่ 12,000 บาทกับเจ้าที่ทำอยู่เวลานี้)
  • ค่าปิดงบบริษัทนึง ปีแรกๆ 15,000 บาท (ปัจจุบันไม่ขอเปิดเผย แต่ราคาไม่สูงมากกว่าเริ่มต้น)
  • ค่าปิดงบบริษัท อีกแห่งที่ทำกับเพื่อน 25,000 บาท

ทั้งหมดนี้มันแพงแบบต้องจ่าย เพราะกฏหมายสั่งให้เราต้องยื่นปิดงบประจำปี ซึ่งรายจ่ายพวกนี้ “ผู้ตรวจสอบบัญชี” จะต้องมีค่าตรวจสอบ ซึ่งแพงมาก ทั้งนี้ทำให้เข้าใจเลยว่า ค่าวิชาชีพ ในอาชีพต่างๆมันเป็นสิ่งที่ต้องเคารพกัน (ทั้งวิศวะ ทนายความ ฯลฯ ที่ค่าปากกาที่สูงไม่เบา แต่เพราะแลกกับความเสี่ยงที่เขาต้องรับนั่นเอง)

สิ่งที่สำนักงานบัญชีที่ดีควรทำ (เท่าที่นึกออก)

  • คอยติดตามเอกสารประจำเดือนของเราทุกสิ้นเดือน (มันเป็นหน้าที่หลักอยู่แล้ว) อย่างที่บอกเคยเจอเจ้าที่แย่มากๆมา แค่รับเอกสารยังไม่ทำให้ตรงเวลาหรือมานัดกับลูกค้าเลย แบบนี้เลี่ยงได้เลี่ยงเลย
  • แนะนำการจัดเก็บเอกสารที่ดีให้กับลูกค้า(เรา)
  • แนะนำเรื่องเอกสารซื้อที่ถูกต้อง (ผมเชื่อว่าคนทำบริษัท อยากเอาทุกอย่างที่ขวางหน้ามาบันทึกค่าใช้จ่าย แต่หลายครั้งมันไม่ถูกต้อง หากได้รับคำแนะนำที่ดี ก็จะดีต่อตัวเราแน่นอน)
  • แนะนำเรื่องงบดุลของเราในแต่ละปี (ส่วนนี้ผมสื่อถึงการดูงบกำไรขาดทุนที่เหมาะสม ซึ่งอาจเรียกว่าแต่งบัญชีก็เป็นไปได้ แต่หากได้รับคำแนะนำจากสำนักงานบัญชีที่ดูแลผลประโยชน์ให้เราได้ดี เราจะได้คำแนะนำว่าควรทำอย่างไรได้บ้าง)

สิ่งที่สำนักงานบัญชีที่ไม่ดี ควรลาจาก

  • บันทึกบัญชีให้เรามั่ว อาทิเช่น เคลมภาษีมูลค่าเพิ่มได้เลยทุกรายการ ไม่ว่าจะน้ำมัน, ค่าที่พัก, ค่าอาหาร เป็นต้น ถ้าได้ทุกอย่างไม่สนใจถูกผิด เอาจริงก็ไม่ดีนะ(แต่ไม่ถูกใจลูกค้าแน่ๆ แต่มันถูกต้องตามบัญชีนะ) บางครั้งสิ่งสำคัญของผมคือ “เขาต้องไม่ทำมั่วๆให้เรา”
  • ไม่สื่อสารกับลูกค้า บัญชีไม่ใช่ลูกจ้าง แต่เขาต้องแนะนำเราให้ดี ถ้าติดต่อไปแล้วไม่สะดวกคุย อย่าไปทำบัญชีกับพวกเขา เพราะเราไม่รู้หรอกว่า เขาจะหายจากเราไปตอนไหน

ไม่ยื่นภาษี ไม่ปิดงบดุลประจำปีได้ไหม

  • การยื่น ภาษี ต่างๆ เป็นเรื่องบังคับต้องทำ!! ไม่ทำไม่ได้ และหากไม่ทำหรือยื่นไม่ทันในเวลาที่กำหนดของแต่ละรอบเดือน มีโทษตั้งแต่ ค่าปรับ, ค่าดอกเบี้ยการชำระล่าช้า และโทษหนักสุดคือจำคุกกันเลยทีเดียว (ส่วนใหญ่ไม่ถึงอันหลังสุดหรอก ถ้าเป็นยอดเล็กๆ)
  • แม้ไม่มีภาษีขาย (ภพ30) ก็ต้องยื่นเอกสารเปล่าไปให้สรรพากรนะ สิ่งนี้เป็นประสบการณ์วัยเด็กของผม ที่ไม่มียอดขายก็เลยไม่ยื่น มารู้ตัวอีกทีโดนสรรพากรเรียกไปคุย เสียค่าปรับที่ไม่ยื่นตามจำนวนเดือนกันเลย
  • การปิดงบดุลบริษัทก็เช่นกัน ต้องปิดทุกปีก่อนพฤษภาคมของปีถัดไป (หรือตามรอบปิดงบของบริษัท ให้ดูข้อมูลเพิ่มเติมเองนะ) หากไม่ทำการยื่นจะมีความผิดทางอาญา อายุความ 1 ปี เคยคุยกับสำนักงานบัญชีได้คำแนะนำว่าถ้าไม่ทำหรือลืมทำ(เพราะเคสที่ถาม ไม่ได้ทำกิจการแล้ว แต่ยังเปิดบริษัททิ้งไว้อยู่) ให้ข้ามไปรออีกปีเลยเลยช่วงอายุความไปก่อน แล้วค่อยยื่นอะไรประมาณนี้ แต่ผมแนะนำว่า “ต้องทำ” อย่าเพิกเฉย คุณเปิดบริษัทมาแล้วควรรับผิดชอบให้ครบทุกส่วน

เปิดบริษัทแล้วแจ้งปิด ก็ยุ่งยากนะ

คลิปนี้ก็ดีมากจากสำนักงานบัญชีแห่งหนึ่งที่ทำอธิบายไว้

คิดให้ดีก่อนเปิดบริษัท เพราะวันปิดบริษัท มันก็งงๆนั่นแหละ แถมถ้าเจ๊งแล้วมาปิดบริษัทก็ยังต้องเสียเงินอีกแล้ว และยาวนานมากกกกกก

  • ต้องทำเรื่องปิดบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจ, แจ้งสรรพากรเพื่อปิดอีกหน่วยงาน
  • ปิดงบดุลบริษัทในปีสุดท้ายที่ปิดทำการ (แนะนำว่าควรทำให้เสร็จทุกอย่างก่อนปิดรอบบัญชี)

ท้ายที่สุด การเปิดบริษัทเปิดง่ายดีนะ แค่เงินค่าเดินเอกสาร ค่าธรรมเนียม ก็เปิดได้แล้ว แต่มีอะไรหลายอย่างตามมาเยอะแยะเลย ทว่าหากมีรายได้มากๆต่อเดือนแล้ว เรื่องพวกนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวล ถ้าเปิดบริษัทแล้วมีรายได้มหาศาล ก็ลุยโลดดดดดด

ปล, ข้อมูลนี้อาจไม่ได้แน่นมาก คนที่ทำธุรกิจมานานอาจมองว่าไม่มีประโยชน์ แต่สำหรับน้องๆวัยรุ่นได้อ่านอาจเกิดประโยชน์ไม่มากก็น้อย

Kuntana A.

อดีตผู้ลองทำอะไรเยอะแยะไปหมด ^^ แต่ปัจจุบันคงเหลือแค่ Kingkong Premium (รับทำของพรีเมี่ยม ของแจกทุกชนิด), Friday Fabric (รับทำเสื้อ) และทำนำเข้าสินค้าจากจีนเล็กๆกับภรรยา ติดตามเราในช่องทางอื่นได้ที่ FB: kuntanaang และ Twitter : @kuntanaang

More Posts

Follow Me:
TwitterFacebook

ฝากกดไลก์ กดติดตามเพจของเราได้นะครับ
และถ้าแบรนด์สินค้าและบริการใด อยากให้เราได้ใช้บริการอะไร หรือได้ลองสินค้าตัวไหน ก็ส่งมาได้นะ ^^ มันอาจจะเป็นบล็อคที่เงียบเหงา ผู้ติดตามไม่น้อย แต่ผู้เขียนรู้เทคนิคการเขียนบทความให้ติดอันดับ SEO ได้นะครับ ฉะนั้นอาจเป็นจุดแข็งที่คุณอาจสนใจเราก็เป็นได้
(แฟนเพจร้างนะ ไม่ได้อัพเดทอะไรเลย)